7 สาเหตุทำไมปวดหัวตอนเช้า แก้ไขยังไงให้ถูกจุด

ปวดหัวตอนเช้า-หลังตื่นนอน เกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วต้องแก้ยังไง

เคยมีอาการปวดหัวตอนเช้ากันหรือเปล่า ประมาณว่าตื่นเช้ามาแล้วก็รู้สึกปวดหัวหรือเวียนหัว จนอยากจะลางานตอนเช้ากันเลยทีเดียว เพราะมันไม่สดชื่นเอาซะเลย เวลาอื่นไม่เป็นดันมาเป็นตอนหลังตื่นนอน ทำให้หลงคิดไปว่านี่เราป่วยหรือเปล่านะ 

จริงๆ แล้วอาการปวดหัวตอนเช้าไม่ใช่เรื่องแปลกหรือหายาก มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาพบว่าประมาณในจำนวนประชากร 1 ใน 13 ล้วนประสบพอเจอกับอาการปวดหัวในลักษณะนี้ โดยที่สาเหตุของอาการอาจจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งสาเหตุจะมีอะไรบ้าง แล้วจะต้องแก้ไขยังไง บทความนี้มีคำตอบให้คุณ

1. คุณอาจกำลังเผชิญปัญหาไมเกรน

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “ปวดหัวไมเกรน” กันมาก่อนอยู่แล้ว ซึ่งการปวดหัวไมเกรนไม่ใช่เรื่องแปลกหรือหายากอะไรเลย เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยเลยทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับเจ้าอาการปวดหัวไมเกรน การที่คุณตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วเผชิญกับอาการปวดหัว สาเหตุก็อาจจะมาจากไมเกรนก็เป็นได้ 

โดยพบว่าการปวดหัวไมเกรนส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงระหว่างตี 4 ถึง 9 โมงเช้า ได้มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญว่า สาเหตุนั้นเพราะช่วงเวลาตี 4 ถึง 9 โมงเช้าจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมามาก ทำให้ไปมีผลกับความดันหลอดเลือด และกระตุ้นให้ปวดหัวขึ้นมา อีกทั้งช่วงเวลานี้ร่างกายยังหลั่งสารที่จะช่วยระงับการเจ็บปวดโดยธรรมชาติอย่าง เอ็นโดฟินส์ (Endorphins) และเอนคีฟาลิน (Enkephalin) ออกมาน้อยมากด้วย

วิธีแก้ไข

ส่วนหนึ่งของการปวดหัวไมเกรนสามารถเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งหมายความว่าอาจจะยากถ้าจะรักษาให้หายขาด คนที่ไม่ปวดก็จะไม่ปวดเลย ในขณะที่คนที่ปวดหัวไมเกรนก็จะเจอปัญหาปวดหัวไมเกรนไปตลอดจนเรื้อรัง และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง แต่การปวดหัวไมเกรนสามารถบรรเทาได้ โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด รับประทานอาหารให้เหมาะสม เลือกรับประทานที่ดีกับสุขภาพ 

นอกจากนี้ยังสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดโบท็อกซ์ อาจจะฟังน่ากลัว แต่วิธีนี้ได้รับการรับรองในระดับสากลแล้วว่าปลอดภัย การฉีดโบท็อกซ์จะช่วยลดการกระตุ้นเส้นประสาทที่ส่งผลให้เราเกิดอาหารปวดหัวให้บรรเทาลง แต่อย่าลืมนะว่าต้องเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเพื่อประเมินความเหมาะสมและจำเป็น และต้องฉีดโดยแพทย์เท่านั้น

2. คุณอาจกำลังเจอปัญหานอนกรน

การนอนกรนที่ดูเป็นอะไรที่ธรรมดาสามัญเสียเหลือเกินเองก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอาการปวดหัวตอนเช้าได้ การนอนกรนเองก็มีหลายระดับจากเป็นระดับน้อยๆ ไม่มีผลกระทบอะไรมาก ไปจนถึงเป็นหนักมากจนเกิดอาการหยุดหายใจชั่วขณะขณะหลับ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ในกรณีที่เป็นหนักจริงๆ 

โดยอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นตอนตื่นนั่นก็เพราะเกิดจากการที่ออกซิเจนไม่เพียงพอ มีผลทำให้ความดันเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่อาการปวดหัวมึนหัวนั่นเอง

วิธีแก้ไข

ถ้าเรานอนคนเดียวอาจจะทำให้ไม่รู้ตัวว่าเรานอนกรนไหม แล้วกรนหนักแค่ไหน อาจจะต้องอาศัยให้คนที่นอนกับเราไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนคอยช่วยสังเกตแล้วบอกเรา ซึ่งถ้าเขาบอกว่ากรนหนักมากจนดูเป็นปัญหา ก็อาจจะต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดนเฉพาะเพื่อทำการตรวจการนอนหลับของเรา (Sleep Test) และรับคำแนะนำในการแก้ไขแต่เนิ่นๆ

3. คุณอาจกำลังเจอปัญหานอนกัดฟัน

การนอนบดฟันหรือนอนกัดฟันสามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่บางคืน หรืออาจจะนอนกัดฟันจนกลายเป็นนิสัยประจำขณะนอนหลับ การนอนกัดฟันติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้รูปร่างหรือตำแหน่งของกรามเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เกิดอาการปวดหัว ปวดกราม และยังทำให้ฟันเกิดความเสียหายอีกด้วย

การนอนกัดฟันก็อาจจะเรียกได้ว่าคล้ายๆ กับการนอนกรนตรงที่เราทำอย่างไม่รู้ตัวขณะนอน หลายคนอาจจะคิดว่านอนกัดฟันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร อาจจะมองเป็นเรื่องขำขัน แต่ถ้าหากว่ามีอาการปวดหัวร่วมด้วย หรือถ้าเรากัดฟันหนักขนาดที่หมอฟันยังทักเรื่องนี้ ก็อาจจะต้องหาทางแก้ไขมัน

วิธีแก้ไข

ในเบื้องต้นแพทย์อาจจะแนะนำให้ลดและควบคุมระดับความเครียด เพราะการนอนกัดฟันอาจเป็นผลมาจากความเครียดในขณะนั้น (หรือปรับพฤติกรรมอื่นๆ) ในกรณีที่นอนกัดฟันบ่อยมากจริงๆ อาจจะต้องมีการใช้อุปกรณ์ครอบฟันเข้าร่วมช่วยด้วย

4. คุณอาจกำลังติดคาเฟอีน

สำหรับใครที่เป็นคอกาแฟที่กินกาแฟหลายแก้วต่อวัน แถมยังกินติดต่อกันมาเป็นเวลานาน วันไหนที่ไม่ได้กินกาแฟหรือคาเฟอีน ก็อาจจะเจออาการปวดหัวเข้าให้ คาเฟอีนเมื่อบริโภคเข้าไปจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ถ้าหากเราไม่ได้บริโภคคาเฟอีนเลยทั้งที่ปกติต้อง 3 แก้วต่อวัน พอหยุดกินกาแฟก็จะเจอปัญหาแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการพยายามถอนกาแฟ หรือถอนแอลกฮอล์ 

วิธีแก้ไข

ปกติแล้วการกินกาแฟไม่ควรกินมากเกินไปอยู่แล้ว ดังนั้นส่วนใหญ่คำแนะนำทั่วไปคือจะแนะนำให้พยายามหลีกเลี่ยงคาเฟอีนหรือกาแฟในช่วงบ่าย ให้กินแค่ตอนเช้าสักแก้วก็พอ แต่หากใครที่กำลังติดกาแฟอย่างหนัก ต้องกินวันละหลายๆ แก้ว ให้ลองพยายามลดปริมาณคาเฟอีนที่รับเข้าร่างกายลงเรื่อยๆ ในแต่ละแก้ว เช่น ในทุกๆ แก้วให้ผสมกาแฟที่ปราศจากคาเฟอีน หรือที่เรียกกันกว่า Decaf เข้าไปครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นกาแฟที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนปกติ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สามารถกิน Decaf ได้ ทำให้ไม่ต้องรับคาเฟอีนเข้าร่างกายเกินความจำเป็น และหายจากการอาการติดกาแฟในที่สุด

5. คุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเปล่า

ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอาหารแฮงค์ ถ้าหากว่าเมื่อคืนเราเพิ่งไปปาร์ตี้กับเพื่อน หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาหล่ะก็ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเช้าวันถัดมาทำไมถึงปวดหัว อาจจะไม่ต้องถึงกับกินจนเมาถึงจะแฮงค์ได้ แค่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าปกติก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ เพราะแอลกฮอลก์จะทำให้ร่างกายเราขาดน้ำ มีผลกับสารสื่อประสาทต่างๆ และทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยกว่าปกติ

นอกจากนี้สำหรับคนที่มีปัญหาไมเกรนอยู่แต่เดิมด้วยแล้ว สารประกอบในแอลกอฮอล์ก็ถือเป็นศัตรูกับไมเกรนอย่างมาก ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำไม่ให้ผู้ที่มีปัญหาไมเกรนดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

วิธีแก้ไข

วิธีแก้ปัญหานั้นเรียกได้ว่าค่อนข้างง่าย ซึ่งก็คือหลีกเลี่ยงการดื่ม หรืออย่างน้อยที่สุด ก็คือดื่มได้บ้างแต่ให้รู้ว่าแค่ไหนควรพอ ไม่ใช่วัดที่ความเมาหรือไม่เมานะ เพราะบางคนไม่ต้องดื่มจนเมาก็ปวดหัวได้เช่นกัน อีกทั้งโดยมากแล้วเมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์เราก็ล้วนจะปฏิเสธว่าเราไม่เมากันทั้งนั้นจริงไหม ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือให้สังเกตตัวเองว่าคุณดื่มได้มากแค่ไหน แอลกอฮอล์แต่ละประเภทอาจจะส่งผลกับร่างกายไม่เหมือนกัน บางประเภทดื่มเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลให้ปวดหัวมากกว่าประเภทอื่นๆ บางประเภทอาจจะดื่มได้มากหน่อย แต่ไม่ทำให้ปวดหัวแต่อย่างใด เป็นต้น

6. คุณนอนมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า

เราได้ยินกันบ่อยๆ อยู่แล้วว่าการพักผ่อนให้เพียงพอเป็นเรื่องที่สำคัญ เพียงพอในที่นี่หมายถึงไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป ขึ้นอยู่กับรายบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ใหญ่ควรนอนพักผ่อนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน (นอนเกิน 9 ชั่วโมงจะเรียกได้ว่าเป็นการนอนมาเกินความจำเป็น หรือ Oversleep)

การนอนน้อยเกินไปมีผลทำให้หัวใจทำงานหนัก ความดันเลือดสูง และทำให้เกิดความเครียดและเหนื่อยล้าสะสม เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก็ทำให้ปวดหัว ในขณะที่การนอนเยอะเกินไป ก็มีผลทำให้ฮอร์โมนเซราโทนิน (Serotonin) ​แปรปรวน ทำให้ปวดหัวและไม่สดชื่นตอนตื่นนอน

วิธีแก้ไข

วิธีแก้ปัญหาข้อนี้ค่อนข้างทำได้ง่าย ก็คือบังคับตัวเองให้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ สังเกตตัวเองว่าวันที่ตื่นนอนมาแล้วรู้สึกสดชื่นไม่มีอาการปวดหัว ตัวเองนอนไปกี่ชั่วโมง เข้านอนตอนกี่โมงและตื่นตอนกี่โมง สิ่งสำคัญคือคุณภาพการนอนจะต้องดีด้วย คือนอนหลับสนิท ไม่มีอาการหลับๆ ตื่นๆ หรือมีเสียงและแสงรบกวนในขณะนอนหลับ แม้แต่การเลือกหมอนให้พอเหมาะกับการนอนเองก็สำคัญเช่นกัน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกับคุณภาพการนอนหลับ

7. คุณมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลไหม

จากการศึกษาพบว่าการปวดหัวตอนเช้าหรือหลังตื่นนอนอาจเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เพราะการที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลนั้น อาจส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรือบางครั้งอาจทำให้นอนมากเกินไป ซึ่งจะเข้าไปเชื่อมโยงกับข้อ 6 คือการนอนมากหรือนอนเกินไป ซึ่งล้วนไม่เป็นผลดีกับสุขภาพ

วิธีแก้ไข

ถ้าคุณสงสัยว่าตัวเองอาจมีปัญหาโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ควรเข้ารับประเมินและขอคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่สามารถไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนั่นหมายถึงการพัฒนาคุณภาพการนอน และกำจัดอาการปวดหัวที่เกิดจากนิสัยการนอนที่ไม่เหมาะสมทั้งหลาย

สรุป

ถึงแม้ว่าการปวดหัวตอนเช้า หรือหลังตื่นนอน อาจจะไม่ได้ดูเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก แต่การพยายามหาต้นตอ และพยายามแก้ไขที่ต้นเหตุ เพื่อบรรเทาให้ความถี่ในการอาการปวดหัวลดน้อยลง หรือขจัดอาการปวดหัวเหล่านี้ออกไปได้ อย่ารอช้า สุขภาพของคุณสำคัญ!