7 อาการที่บ่งบอกว่าเป็นไมเกรน

ตัวร้อนเป็นไข้ก็ปวดศีรษะ เครียดก็ปวดศีรษะ แต่บางทีก็สับสนว่าแบบไหนกันนะที่บ่งบอกได้ว่าเราอาจจะเป็นไมเกรน ก่อนจะไปพบแพทย์เรามาเช็คอาการเบื้องต้นกันก่อนดีกว่า ว่าเรามีอาการปวดไมเกรนครบตามนี้หรือไม่ 

1. อาการปวดหัวหนึ่งหรือสองข้างของศีรษะ

อาการปวดหัวอย่างรุนแรงเป็นสัญญาณทั่วไปของ ไมเกรน  ลักษณะที่สำคัญคืออาการปวดแบบรู้สึกปวดตุ้บๆ “throbbing” ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ด้านใดด้านหนึ่งของศีรษะด้านหน้าและร้าวไปเบ้าตาร่วมด้วย

2. เห็นแสงวูบวาบในตา

ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการหลักของไมเกรนที่เรียกว่า Aura คือ ผู้ป่วยจะไวต่อสี และแสง ทำให้บางครั้งผู้ที่เป็นไมเกรนจะเริ่มเห็นแสงบางอย่างจากภาพ แสงกระพริบ เป็นจุดหรือเป็นเส้นอยู่ในตา

3. อาการนอนไม่พอ

เมื่อตื่นนอนแล้วรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียและไม่สดชื่น  หรือมีปัญหาอื่นๆ ในด้านการนอน ถือเป็นปัญหาทั่วไปในผู้ที่มีอาการไมเกรน จากการศึกษาพบว่าการนอนหลับไม่เต็มอิ่ม และปัญหาการนอนอื่นๆ มีความสัมพันธ์กับไมเกรน ซึ่งส่งผลต่อการทำงานในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมา

 

4. ปวดเบ้าตา

อาการปวดไมเกรนมักจะมีอาการปวดโพรงตาร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการที่ทำให้คนส่วนใหญ่หงุดหงิด เพราะความรู้สึกปวดลึกๆในเบ้าตาร่วมกับการมองเห็นพร่ามัวหรือแสงสีผิดปกติจนต้องไปตรวจตา แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้อาการปวดตาหรือปวดหัวดีขึ้นได้ เพราะต้นเหตุจริงๆ แล้วคือไมเกรน

5. มีอาการชา

ในผู้ป่วยไมเกรนบางราย จะมีอาการชา ไม่รับรู้ประสาทสัมผัสชั่วคราว หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มเล็กๆ มาจิ้ม โดยปกติจะเกิดที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาจจะเริ่มจากปลายนิ้ว เคลื่อนไปทางแขน และเคลื่อนไปที่ใบหน้า

6.คลื่นไส้อาเจียน

จากผลสำรวจของ  American Migraine Study พบว่าจาก 3,700 คนที่มีอาการปวดหัวไมเกรน 73% มีอาการคลื่นไส้ และ 29% มีอาการอาเจียน โดยผู้ที่มีอาการคลื่นไส้บ่อยครั้งร่วมด้วย จะมีอาการปวดหัวมากขึ้น

7. ปวดหัวค้าง

มักมีอาการเมื่อยล้า ไม่มีสมาธิ รู้สึกอ่อนแรง เวียนศีรษะ และรู้สึกสูญเสียพลังงานในช่วงเป็นไมเกรน และหลังจากอาการปวดไมเกรนหายไปแล้วยังคงอ่อนเพลียอยู่ ซึ่งเป็นภาวะที่เหมือนเป็นควันหลงของการปวดไมเกรน

เช็คให้ครบแล้วสงสัยว่าน่าจะเป็นไมเกรน อย่ามัวแต่ซื้อยากินเองเพราะการกินยาแก้ปวดเป็นจำนวนมากติดต่อกันอาจเกิดผลข้างเคียงที่เกิดจากการกินยาได้เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือผื่นแพ้ยา ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมและรับการรักษาที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะปวดไมเกรนเรื้อรังในอนาคต