ปวดหัวคิ้ว เกิดจากสาเหตุใด วิธีคลายปวดหัวระหว่างคิ้วมีอะไรบ้าง?
อย่างที่ทราบกันดีว่าอาการปวดหัวมีหลายรูปแบบ เช่น ปวดหัวเรื้อรังที่มีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ปวดหัวจากความเครียดหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาการปวดหัวไมเกรนที่หลาย ๆ คนต้องเผชิญ รวมไปถึงอาการปวดหัวคิ้ว
หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าอาการปวดหัวคิ้ว เกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่จะต้องไปพบแพทย์ หรือเมื่อมีอาการปวดหัวคิ้ว แก้ยังไง วันนี้เรารวบรวมคำตอบที่เป็นประโยชน์มาให้แล้วค่ะ
สารบัญบทความ
- ปวดหัวคิ้ว
- ปวดหัวระหว่างคิ้วเกิดจากอะไร
- อาการที่มักเกิดร่วม
- อาการปวดหัวคิ้วที่ควรพบแพทย์
- การวินิจฉัยอาการปวดหัวคิ้ว
- การรักษาอาการปวดหัวคิ้ว
- แนวทางการป้องกันอาการปวดหัวคิ้ว
- ข้อสรุป
ปวดหัวคิ้ว
อาการปวดหัวคิ้วเกิดขึ้นได้หลายกรณี และแต่ละกรณีจะแตกต่างกันออกไป เช่น ปวดหัวคิ้วซ้าย ปวดพร้อมกับคลื่นไส้ ปวดหัวระหว่างคิ้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ พฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อนหน้า หรือโรคประจำตัวของบุคคลนั้น ๆ
อย่างไรก็ดี อาการทั่ว ๆ ไปของการปวดหัวตรงหว่างคิ้วคือ จะรู้สึกปวดบริเวณระหว่างหัวคิ้วทั้งสองข้าง ในบางครั้งอาจจะรู้สึกปวดหัวคิ้วข้างเดียว หรือบางครั้งอาจจะปวดบริเวณอื่นๆ เช่น ปวดหัวท้ายทอย กระบอกตา เบ้าตาประกอบด้วย
แต่หากใครที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อนเพิ่ม ก็อาจจะหมั่นสังเกตตนเองและเข้าปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจจะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ได้
ปวดหัวระหว่างคิ้วเกิดจากอะไร
ดังที่กล่าวมาในข้างต้น อาการปวดหัวคิ้วเกิดจากหลายสาเหตุ โดยแบ่งสาเหตุของปวดหัวตรงหน้าผากระหว่างคิ้วได้ 5 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
1. โรคไมเกรน
โรคไมเกรน ลักษณะอาการคือปวดหัวตุบๆ โดยอาจจะปวดหัวข้างซ้าย ข้างขวา ปวดทั้งสองข้าง หรือปวดกระบอกตา ตลอดจนในผู้ป่วยบางรายก็มีอาการปวดหัวคิ้ว
ทั้งนี้ เป็นเพราะว่ากล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะมีการเกร็งตัว สั่น จนปวดตุบ ๆ ไปทั่วบริเวณศีรษะ คอ บ่า ไหล่ ท้ายทอย รวมถึงบริเวณหัวคิ้ว
จุดเด่นของอาการ : มีอาการปวดหัวคิ้วร่วมกับอาการไวต่อแสงและเสียง ปวดขั้นรุนแรง โดยเฉพาะขณะเคลื่อนไหวร่างกาย ตลอดจนคลื่นไส้ มีอาการไมเกรนขึ้นตา ไม่สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้
2. การอักเสบบริเวณรอบศีรษะ
การอักเสบคือ การที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้เนื้อเยื่อหรือบริเวณนั้น ๆ ของร่างกายบาดเจ็บ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวด เจ็บ บวมต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น 4 สาเหตุ ดังนี้
- ฟันผุ
อาการฟันผุ นอกจากจะปวดฟัน ยังสามารถส่งผลกระทบต่อการปวดแนวกราม ขากรรไกร ตลอดจนปวดร้าวไปถึงบริเวณหัว หัวคิ้ว หน้าผาก และกระบอกตา เนื่องจากฟันผุจะลงลึกไปยังชั้นโพรงประสาทฟัน ส่งผลต่อกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวมีการเชื่อมโยงและทำงานเกี่ยวเนื่องกัน
จุดเด่นของอาการ : ปวดฟันพร้อมกับอาการปวดหัวคิ้วและอาการปวดหู
- หูอักเสบ
หูอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อหู จนกระทั่งส่งผลให้เกิดอาการบวม แดง และอักเสบ ซึ่งอาการอักเสบนี้จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บและปวดบริเวณหู ร้าวไปจนถึงบริเวณหัว ปวดหัวคิ้ว ท้ายทอย
จุดเด่นของอาการ : ปวดหู สูญเสียการได้ยิน เวียนหัว ปวดหัวคิ้ว มีของเหลวไหลออกจากหู
- ไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบคือ การอักเสบของโพรงจมูกที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวคิ้ว เบ้าตา และจมูกได้ เนื่องจากจะเกิดแรงดันบริเวณใบหน้า หน้าผาก หัวคิ้ว ตลอดจนจมูก จนบีบตัวและเกิดเป็นอาการปวด โดยไซนัสอักเสบอาจจะเกิดระยะรสั้น ๆ หรือมีอาการเรื้อรังก็ได้เช่นกัน
จุดเด่นของอาการ : คัดจมูกหรือคัดจมูก ปวดหัวคิ้วหรือเจ็บบริเวณหัวคิ้วหากโดนนิ้วเคาะ ไอ และมีน้ำมูกไหลลงคอร่วมด้วย
- กล้ามเนื้อคออักเสบ
อาการกล้ามเนื้ออักเสบเกิดจากการที่นอนผิดท่า กล้ามเนื้อเกิดอาการตึงและอักเสบ ซึ่งจะส่งผลให้ปวดบริเวณต้นคอ ท้ายทอย ร้าวไปยังหู รอบหัว และบริเวณหัวคิ้ว
จุดเด่นของอาการ : ปวดหัวคิ้ว ปวดคอ ไม่สามารถขยับคอได้อย่างปกติ บางกรณีปวดขา แขนขาอ่อนแรง
3. ปัญหาสายตาผิดปกติ
ในยุคปัจจุบันหลาย ๆ คนก็อาจจะต้องเผชิญกับโรคทางสายตา เนื่องจากวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจริง ๆ แล้วนั้นโรคหรือปัญหาทางสายก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดบริเวณหัวคิ้ว เบ้าตา
- สายตาสั้น ยาว เอียง
อาการสายตาผิดปกติเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่เมื่อเกิดอาการนั้น ๆ ก็มักจะส่งผลกระทบให้ปวดกระบอกตา ลามไปจนการปวดหัวระหว่างคิ้วข้างที่สายตาผิดปกติหรือทั้งสองข้าง
จุดเด่นของอาการ : ปวดหัว สายตาพร่ามัว เห็นไฟเป็นสีรุ้ง ไวต่อแสง สู้แสงไม่ได้ เป็นต้น
- โรคต้อหิน
โรคต้อหิน เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตาหรือประสาทตาถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดตา ปวดหัวคิ้ว บางรายก็จะเริ่มสูญเสียการมองเห็น ทั้งนี้ กลไกที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวคิ้วร่วมด้วยคือ ความดันในลูกตาสูงนั่นเอง สำหรับโรคนี้ เมื่อใดที่เริ่มมีอาการควรรีบพบแพทย์ทันที ก่อนสูญเสียการมองเห็น
จุดเด่นของอาการ : ตาแดง เวียนหัว เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ คลื่นไส้ เห็นภาพซ้อนร่วมกับการปวดหัวและปวดหัวคิ้ว กระบอกตา
4. ภาวะเครียดและวิตกกังวล
หนึ่งในสาเหตุของอาการปวดหัวคลัสเตอร์และอาการปวดหัวคิ้ว คือ ภาวะความเครียดและความวิตกกังวล กลไกที่ทำให้เกิดอาการคือ การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ โดยเบื้องต้นจะปวดหัวรอบ ๆ จากนั้นจะลามไปปวดบริเวณหัวคิ้ว กระบอกตาตั้งแต่ 30 นาทีไปจนถึงปวดต่อเนื่องเป็นวัน
จุดเด่นของอาการ : ปวดหัวทั้งสองข้าง ปวดหัวคิ้วพร้อม ๆ กับการปวดกระบอกตา ขมับ และไมเกรน ในขณะเดียวกันก็มีอาการไวต่อสิ่งเร้า
5. เนื้องอก
เนื้องอกหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติในร่างกาย จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง โดยเนื้องอกจะกดทับบริเวณศีรษะ ทำให้ความดันเพิ่มขึ้นสูง จนเกิดอาการปวดหัวรุนแรง ปวดหัวคิ้ว และปวดลามไปบริเวณต่าง ๆและกำเริบนึกตอนกลางคืนหรือตอนเคลื่อนไหวร่างกาย
จุดเด่นของอาการ : แขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว เวียนหัว ใบหน้าเบี้ยว สับสน มึนงง ความจำผิดปกติ ทรงตัวลำบาก ขาดสมาธิ
อาการที่มักเกิดร่วม
นอกจากอาการปวดบริเวณหัวคิ้วทั้ง 2 ข้างแล้ว ก็มักพบว่าผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ตามแต่ละสาเหตุร่วมด้วย ดังต่อไปนี้
- คัดจมูก
- ไอ เจ็บคอ
- ปวดหัวคลื่นไส้
- น้ำมูกเขียวข้นไหลลงคอ
- ไข้ขึ้น
- ง่วงนอน อ่อนเพลีย และซึม
- เวียนหัว
- ไวต่อสิ่งเร้า ทั้งแสงและสี
- ประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำลง
- แขนขาอ่อนแรง
- เดินเซ
อาการปวดหัวคิ้วที่ควรพบแพทย์
แม้ว่าอาการปวดหัวจะสามารถทานยา เพื่อให้อาการดีขึ้นได้ แต่เมื่อใดที่พบว่ามีอาการปวดหัวคิ้วรุนแรงหรือมีอาการอื่นๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์ทันที
- บริเวณใบหน้ามีอาการปวดหรือบวมอย่างรุนแรง
- บริเวณรอบดวงตามีอาการปวดหรือบวม
- รู้สึกสับสน มึนงง
- ปวดหัวรุนแรงกะทันหัน
- ง่วงนอน ซึม
- มีไข้สูง
- มีผื่นตามตัว
- เวียนหัว คลื่นไส้ และอาเจียนหนัก
การวินิจฉัยอาการปวดหัวคิ้ว
หากมีอาการปวดหัวคิ้วจนต้องไปพบแพทย์ ทางแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติส่วนตัว ประวัติการรักษา สอบถามถึงระดับความรุนแรงของอาการ พฤติกรรมทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน โดยในบางครั้ง หากพบว่ามีแนวโน้มว่าจะเกิดจากความผิดปกติและต้องวินิจฉัยอย่างละเอียด จะใช้วิธีดังต่อไปนี้
1. การตรวจ MRI
การตรวจ MRI คือ การตรวจร่างกายทั้งทางกายวิภาคและสรีรวิทยาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เนื่องจากจะทำให้ได้ภาพที่คมชัด มีรายละเอียดสูง นิยมใช้ตรวจหาความผิดปกติในร่างกาย เช่น ตรวจหาเนื้องอก ภาวะอักเสบในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สมอง หัวใจ รวมถึงยังสามารถตรวจดูความผิดปกติของระบบเลือดได้ด้วยเช่นกัน
2. การตรวจ CT SCAN
การตรวจ CT SCAN คือ การตรวจหาความผิดปกติของร่างกายโดยการฉายรังสีเอกซ์ ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ เช่น หัว หัวใจ แขน ขา เพื่อหาความผิดปกติและสาเหตุของอาการปวดหัวคิ้ว โดยผลลัพธ์ของการตรวจแบบ CT SCAN คือ จะเป็นภาพ 3 มิติและภาพแนวระนาบ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียด
3. การตรวจเอกซเรย์ (X-ray)
หากมีอาการปวดหัวคิ้วหรือมีความผิดปกติทางร่างกาย แพทย์จะใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจเอกซเรย์ เนื่องจากจะทำเห็นภาพอวัยวะหรือความผิดปกติของร่างกายได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากพบว่ามีความผิดปกติบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหัว ก็จะสามารถรักษาได้อย่างตรงจุด
การรักษาอาการปวดหัวคิ้ว
การรักษาอาการปวดหัวคิ้วนั้นขึ้นสามารถรักษาด้วยวิธีแก้ปวดหัวไมเกรนเบื้องต้น รักษาตามสาเหตุ ตลอดจนรักษาตามลักษณะความรุนแรงของอาการที่พบในแต่ละบุคคล โดยแบ่งได้ดังนี้
1. ประคบเย็นบรรเทาอาการปวด
การประคบเย็นบรรเทาอาการปวด จะช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดอาการตึงและลดอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี เพียงแค่ใช้ผ้าเย็นหรือผ้าชุบน้ำเย็น ประคบบริเวณหัวคิ้วหรือบริเวณโดยรอบที่มีอาการปวด ประมาณ 10-15 นาที อาการก็จะบรรเทาขึ้น แต่วิธีแก้ปวดหัวคิ้วดังกล่าวเหมาะสำหรับการปวดหัวที่ไม่รุนแรงและอาการปวดหัวคิ้วทั่ว ๆ ไป
2. การใช้ยารักษาอาการปวด
การใช้ยารักษาอาการปวดนั้น เป็นวิธีคลายปวดหัวคิ้วแบบเร่งด่วน โดยสามารถใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ซึ่งเป็นการบรรเทาอาการปวดอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องทานยาแก้ปวดไมเกรน เช่น
- ยากลุ่ม Triptan หรือยาแก้ปวดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนอาการปวดหัวคิ้ว โดยยาชนิดนี้จะมีทั้งรูปแบบชนิดเม็ด แผ่นแปะ ยาฉีด และยาพ่นจมูกให้เลือกใช้ตามความสะดวก
- ยากลุ่ม Ergotamine หรือยารักษาไมเกรน ออกฤทธิ์ในการทำให้เส้นเลือดทำงานได้อย่างตามปกติ และมีประสิทธิภาพ
- ยากลุ่ม Ibuprofen หรือยาต้านอาการอักเสบไร้สเตียรอยด์ นิยมใช้ในการรักษาอาการปวดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ปวดฟันผุ ปวดหู ปวดหัวไมเกรน เป็นประจำเดือนแล้วปวดหัว ปวดกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณต่าง ๆ เป็นต้น
3. การรักษาตามสาเหตุของโรค
เพื่อให้การรักษานั้นเห็นผลดีและบรรเทาอาการได้อย่างตรงจุด อาจจะต้องรักษาตามสาเหตุของโรค ดังนี้
- โรคไมเกรน : สามารถรักษาโดยการทานยาแก้ปวด ใช้สมุนไพรรักษาไมเกรน นวดคลายเส้น ตลอดจนรักษาด้วยการฉีดโบท็อกไมเกรน
- การอักเสบบริเวณรอบศีรษะ : ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ กล้ามเนื้อคออักเสบ เบื้องต้นอาจจะทานยาแก้ปวด จากนั้นอาจจะประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางแต่ละโรค
- ปัญหาสายตาผิดปกติ : หากสายตาสั้น ยาว หรือเอียง อาจจะต้องตรวจวัดสายตา เพื่อตัดแว่นหรือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง แต่หากมีอาการของโรคต้อหิน อาจจะต้องใช้ยาหยอดตาหรือผ่าตัด ตลอดจนปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านควบคู่กันไปด้วย
- ภาวะเครียดและวิตกกังวล : เบื้องต้นสามารถใช้ยาแก้ปวดไมเกรนได้ หรือในบางรายอาจจะต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรมของตนเอง หากิจกรรมคลายเครียด ปรึกษาแพทย์ หาคนรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อลดภาวะตึงเครียดและวิตกกังวล
- เนื้องอก : วิธีรักษาอาการเนื้องอกคือ การผ่าตัด โดยอาจจะต้องปรึกษาแพทย์และเขารับการวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อน
แนวทางการป้องกันอาการปวดหัวคิ้ว
อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหัวคิ้ว สามารถปฏิบัติตาม 8 แนวทางการป้องกันอาการปวดหัวระหว่างคิ้วง่าย ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- พักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายได้พักและฟื้นฟูตนเอง โดยอาจจะนอนในห้องที่ไม่มีสิ่งเร้า ไม่มีแสงหรือเสียงรบกวนและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม
- ฝึกทำสมาธิ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย ลดความกังวล สงบ และมีสมาธิมากยิ่งขึ้น
- หากิจกรรมยามว่างทำ โดยอาจจะเป็นกิจกรรมที่ชอบ ทั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาความเครียด
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น วิตามิน ผัก ผลไม้ แร่ธาตุสำคัญ ๆ อย่างแมกนีเซียม ไมเกรนจะลดลงได้ ในขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นไมเกรนประเภทต่าง ๆ ด้วย
- หมั่นออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว สุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยอาจจะเริ่มจากการออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น โยคะแก้ปวดหัว ปั่นจักรยาน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีสารกระตุ้นและออกฤทธิ์กดประสาท ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหัว ตลอดจนปวดระหว่างคิ้ว เวียนหัวได้
ข้อสรุป
อาการปวดหัวคิ้ว นั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น เมื่อมีอาการเข้าค่ายหรือมีอาการในระดับเบื้องต้น ก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที
หากต้องการรักษาไมเกรน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดหัวคิ้ว ด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและปลอดภัยอย่างการฉีดโบท็อกไมเกรน การฉีดยา หรือการฝังเข็มไมเกรน สามารถแอดไลน์ @ayaclinic หรือโทร 090–970-0447 เพื่อเข้ารับคำปรึกษา เข้าตรวจไมเกรน ตลอดจนทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันที
เอกสารอ้างอิง
Angelica Bottaro. 2022. What Are the Causes of Eyebrow Pain?. Retrieve from https://www.verywellhealth.com/eyebrow-pain-5216777
Beth Sissons. 2019. What causes eyebrow pain?. Retrieve from https://www.medicalnewstoday.com/articles/326101
Diana Wells. 2018. What’s Causing Pain Near or Behind My Eyebrows?. Retrieve from https://www.healthline.com/health/eyebrow-pain