สังเกตุอาการอย่างไร ว่าเข้าข่ายของโรคไมเกรน
อาการปวดหัว เป็นหนึ่งในอาการปวดที่เราทุกคนต่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องเผชิญกับอาการปวดหัวหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัวเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ ปวดหัวเพราะไม่สบาย หรือปวดหัวเพราะทำงานหนักเกินไป แต่ใครจะไปรู้ว่าอาการปวดหัวที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “ไมเกรน” อยู่ก็เป็นได้ โดยเฉพาะอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดหัวแบบตุบ ๆ หรือบางคนอาจปวดแบบฉับพลันไปเลยก็มี ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่อันตรายมาก
แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดหัวของเรากำลังเข้าข่ายโรคไมเกรนหรือไม่ ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคไมเกรน พร้อมวิธีการรักษาไมเกรนและป้องกันอาการไมเกรนอย่างถูกต้อง
สารบัญบทความ
- ไมเกรนคืออะไร
- อาการของไมเกรนเป็นอย่างไร
- อาการปวดหัวไมเกรนมี 4 ระยะ
- เช็กอาการอย่างไรว่าเป็นไมเกรน
- ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน
- อาการปวดไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน
- พฤติกรรมที่คนเป็นไมเกรนควรหลีกเลี่ยง
- วิธีการรักษาไมเกรนและป้องกันอาการไมเกรน
- ทำความรู้จักสาร CGRP สาเหตุของอาการปวดไมเกรน
- แนวทางการการใช้ยาแก้ปวด
- ข้อสรุป
ไมเกรนคืออะไร
ไมเกรน (migraine) คือ ภาวะปวดศีรษะเรื้อรังที่มักมีอาการปวดรุนแรงบริเวณข้างศีรษะ โดยมักปวดเพียงข้างเดียว อาการปวดอาจเป็นแบบตุ๊บ ๆ หรือแบบเจ็บแปลบ ๆ มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และไวต่อแสงและเสียงร่วมด้วย
ไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมอง จึงทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้นและทำให้ระบบหลอดเลือดในสมองมีการบีบและการคลายตัวมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ทำให้มีอาการปวดหัวข้างเดียวหรืออาการไมเกรน ที่เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก
อาการของไมเกรนเป็นอย่างไร
ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก อาการไมเกรนนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปจะมีลักษณะดังนี้
- อาการปวดศีรษะ : ปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่งของศีรษะ ปวดหัวข้างเดียว มักเป็นอาการปวดแบบตุบ ๆ หรือแบบกดทับ มีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก
- คลื่นไส้และอาเจียน : ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมกับอาการปวดศีรษะ
- ไวต่อแสงและเสียง : ผู้ป่วยไมเกรนจะมีอาการไวต่อแสงและเสียงมากกว่าปกติ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ง่ายขึ้น
- อาการทางสายตา : ในบางรายอาจมีอาการทางสายตา เช่น เห็นแสงวาบ แสงจ้า หรือภาพซ้อน
- อาการชาหรืออ่อนแรง : ผู้ป่วยไมเกรนบางรายอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า แขน หรือขาร่วมด้วย
อาการปวดหัวไมเกรนมี 4 ระยะ
อาการปวดหัวไมเกรนแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
อาการเตือน (Prodrome)
ระยะนี้อาจเกิดขึ้นก่อนอาการปวดหัวไมเกรน 1-2 วัน โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่
- อารมณ์แปรปรวน เช่น รู้สึกหงุดหงิด เศร้า
- เหนื่อยล้า
- หาวบ่อย
- คอแข็ง
- ไวต่อแสงและเสียง
อาการเตือนล่วงหน้า (Aura)
ระยะนี้มักเกิดขึ้นก่อนหรือพร้อมกับอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่
- เห็นแสงแวบวาบหรือแสงระยิบระยับ แสงไฟสีขาวมีขอบหยึกหยัก
- เห็นภาพซ้อน หรือเห็นภาพเบลอ เห็นเส้นประสาท
- มีปัญหาทางการพูด เช่น พูดติดขัดหรือพูดไม่ถูก
- ชาหรืออ่อนแรงที่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง
อาการปวดศีรษะ (Headache)
ระยะนี้เป็นระยะที่ปวดศีรษะ ซึ่งมักจะเป็นระยะที่มีอาการปวดค่อนข้างรุนแรง โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดหัวข้างเดียว
- ปวดแบบตุ๊บๆ หรือแบบเต้นเป็นจังหวะ
- มีอาการรุนแรง ปานกลาง หรือเบา
- ปวดนาน 4-72 ชั่วโมง บางรายอาจปวดนานจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้
- อาจมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียง
อาการหลังจากปวดศีรษะ (Postdrome)
ระยะนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากอาการปวดหัวหายไป อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยตามตัว
- อารมณ์แปรปรวน
- ปัญหาทางความจำหรือสมาธิ
- อาจมีอาการไวต่อสิ่งเร้าเหมือนในระยะที่สามได้
เช็กอาการอย่างไรว่าเป็นไมเกรน
ไมเกรน (migraine) ถูกจัดให้อยู่ในอาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Primary headache) ซึ่งเป็นอาการปวดหัวที่ไม่ได้เกิดจากโรค แต่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดและเส้นประสาทในสมอง โดยทางสมาคมปวดศีรษะนานาชาติ (The International Headache Society: IHS) ได้จัดเกณฑ์การวินิจฉัยอาการปวดหัวไมเกรนแล้วว่าจะต้องมีอาการครบตามองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อนี้ ได้แก่
- มีอาการปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องนาน 4 ชั่วโมง ติดต่อกันถึง 3 วัน
- มีอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ, ปวดหัวข้างเดียว, ปวดหัวมาก หรือปวดรุนแรงจนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้ โดยจะต้องมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อนี้
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพ้แสงและเสียงร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หากต้องการเช็กอย่างละเอียด แนะนำให้เช็กจาก ID Migraine ซึ่งเป็นเครื่องมือในการคัดกรองโรคไมเกรนเพื่อประเมินตัวเองเบื้องต้น โดยอาการไมเกรนที่แสดงออกอย่างชัดเจน ได้แก่
- กลัวแสง กลัวเสียงดัง
- มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน
- มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
เกณฑ์วินิจฉัยแบบ ID migraine ถือว่าเป็นเกณฑ์การวัดที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ หากใครที่มีอาการ 2 ใน 3 ข้อขึ้นไป ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไมเกรนได้
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน
ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหัวไมเกรน ได้แก่
- พันธุกรรม : หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นไมเกรนมาก่อน ลูกหลานก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นไมเกรนได้เช่นเดียวกัน
- ฮอร์โมน : การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน เช่น ในช่วงมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน
- สภาพแวดล้อม : ปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย ได้แก่ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นแรง อากาศร้อนจัด อดนอน และความเครียด
- อาหาร : อาหารบางชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ เช่น ช็อกโกแลต ชีส ผงชูรส แอลกอฮอลล์ คาเฟอีน รวมไปถึงอาหารที่ผสมไนไตรท์อย่างไส้กรอกหรือเบคอนด้วยเช่นกัน
- ช่วงเวลาหลังคลอด : คุณแม่หลังคลอด มีโอกาสที่จะเป็นไมเกรนได้สูงกว่าคนทั่วไป เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะขึ้นสูงเรื่อย ๆ และมาต่ำลงในช่วงหลังคลอดบุตร จึงไปกระตุ้นอาการไมเกรนให้เกิดขึ้นได้
- ออฟฟิศซินโดรม : โรคออฟฟิศซินโดรม มักจะมีอาการปวดตึงบริเวณกล้ามเนื้อคอ จึงสามารถกระตุ้นให้เกิดไมเกรนหรือปวดร้าวรอบกระบอกตาได้
อาการปวดไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน
อาการปวดหัวไมเกรนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักมีอาการปวดไมเกรนกำเริบในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบประสาทและการไหลเวียนเลือดในสมอง ซึ่งส่งผลต่อการเกิดอาการไมเกรน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงต่าง ๆ ของรอบเดือน โดยจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนมีประจำเดือน พอถึงช่วงมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะต่ำที่สุด การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลต่อสมองและระบบประสาท ทำให้เกิดอาการไมเกรนได้
สำหรับการดูแลตัวเองหากเป็นไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน แนะนำให้บรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวด แต่ยาไมเกรนก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แพทย์จึงแนะนำให้แยกรับประทานตามอาการ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- คนไข้ที่มักจะมีอาการปวดไมเกรนเฉพาะช่วงมีรอบเดือน และรอบเดือนมาสม่ำเสมอ
คนไข้กลุ่มนี้ แนะนำให้รับประทานยาป้องกันไมเกรนกลุ่ม NSAIDs หรือยา triptan ซึ่งจะต้องทานก่อนมีประจำเดือนอย่างน้อย 2 วัน แล้วนับไปอีกรวม 6 วัน
- คนไข้ที่มักจะมีอาการปวดไมเกรนเป็นประจำ และรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
คนไข้ที่มักจะมีอาการปวดไมเกรนเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีรอบเดือนหรือไม่ก็ตาม รวมถึงรอบเดือนยังมาไม่สม่ำเสมอ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาป้องกันไมเกรนทั่วไป เช่น amitriptyline, propranolol, topamax
- คนไข้ที่มีอาการปวดไมเกรนไม่บ่อย และไม่ได้เกิดจากรอบเดือนทุกครั้ง
คนไข้กลุ่มนี้ แนะนำให้รับประทานยารักษาไมเกรนเฉียบพลันทั่วไป เช่น ยา naproxen (275 มก.) โดยรับประทาน 1 ถึง 2 เม็ดเมื่อมีอาการ
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาป้องกันไมเกรน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อน เพื่อดูความเหมาะสม และป้องกันผลข้างเคียงจากยา
พฤติกรรมที่คนเป็นไมเกรนควรหลีกเลี่ยง
พฤติกรรมที่ผู้ที่เป็นไมเกรนควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- การนอนหลับไม่เพียงพอ นอนมากเกินไป หรือนอนไม่เป็นเวลา สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน และเข้านอน/ตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน
- ความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญของไมเกรน พยายามหลีกเลี่ยงภาวะเครียดจัด ฝึกเทคนิคการจัดการความเครียด เช่น การหายใจลึก ๆ โยคะ หรือทำสมาธิ
- อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ ได้แก่ ช็อกโกแลต ชีส อาหารหมักดอง คาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ป่วยไมเกรนจำนวนมากมีความไวต่อแสงจ้าและเสียงดัง พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงจ้าหรือเสียงดัง หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมแว่นกันแดดและใช้ที่อุดหู
- สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เช่น อากาศร้อนจัด อากาศหนาวจัด และความชื้นสูง สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้
- การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายด้าน รวมถึงการเพิ่มความเสี่ยงของอาการปวดไมเกรน
- เลี่ยงกลิ่นฉุนบางชนิด เช่น น้ำหอม กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นน้ำมันเบนซิน เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาลดความดันเลือด ยารักษาโรคซึมเศร้า อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้
- การดื่มน้ำไม่เพียงพอส่งผลต่อร่างกายหลายด้าน รวมถึงการเพิ่มความเสี่ยงของอาการปวดหัวไมเกรน
- การอดอาหารหรือการทานอาหารไม่ตรงเวลาส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้
วิธีการรักษาไมเกรนและป้องกันอาการไมเกรน
นอกจากการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนแล้ว ผู้ป่วยไมเกรนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทานยาตามแพทย์สั่ง และหมั่นสังเกตอาการของตนเองเพื่อหาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ การควบคุมปัจจัยต่าง ๆ อย่างเหมาะสมจะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดไมเกรน
ยิ่งไปกว่านั้น อาการปวดหัวไมเกรนยังสามารถป้องกันได้หากพบแพทย์เพื่อรับแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง โดยเริ่มแรก แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาป้องกันไมเกรนก่อน โดยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
การรักษาด้วยยาป้องกัน
- กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า (Tricyclic antidepressants)
ได้แก่ amitriptyline, nortriptyline ซึ่งเป็นตัวยาที่ช่วยในการนอนหลับและลดอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม ซึ่งในภายหลังก็นำมาใช้ในการลดความถี่ของการเกิดไมเกรนด้วยเช่นกัน
- กลุ่มยากันชัก (Anticonvulsant)
ได้แก่ topiramate เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนไข้ในกลุ่มที่มีอาการปวดในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งสามารถลดอาการปวดไมเกรนได้มากถึง 33% เลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น ทานแล้วมีอาการชา อาการมึนงง
- กลุ่มยาลดความดัน (Beta blocker)
ได้แก่ propranolol เป็นยาป้องกันไมเกรนที่มักใช้ในผู้ป่วยไมเกรนที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคร่วม แต่จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันน้อยกว่ากลุ่มยา 2 ข้อข้างต้น
การรักษาด้วยการใช้ยาฉีด
การฉีดโบท็อกซ์รักษาไมเกรน เป็นการฉีดเพื่อเข้ายับยั้งปลายประสาท Acetyl Choline ซึ่งเป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองที่ต่อกับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง โดยจะฉีดเข้าไปที่บริเวณใบหน้าระหว่างคิ้ว หน้าผาก ท้ายทอย ต้นคอ และบ่า ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ประมาณ 60 – 70% และช่วยลดความถี่ของอาการปวดหัวได้อีกด้วย
- ฉีดยาชาเข้าที่เส้นประสาทบริเวณท้ายทอย (occipital nerve block)
การฉีดยาชาเข้าที่เส้นประสาทบริเวณท้ายทอย (occipital nerve block) เป็นอีกหนึ่งแนวทางการรักษาแบบทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรักษาไมเกรนด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ โดยการฉีดยาชานั้นจะเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนเรื้อรัง มีอาการปวดหัวติดต่อกันยาวนาน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่เห็นผลดี และมีผลข้างเคียงน้อยมาก
- การใช้ Anti – CGRP
การใช้ Anti – CGRP คือ ยาฉีดไมเกรนต้านสาร CGRP ซึ่งเป็นยาป้องกันไมเกรน ที่จะต้องทำการฉีดเดือนละครั้ง และต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้นถึงสามารถฉีดได้ ลักษณะของเข็มฉีดจะคล้ายกับปากกาฉีดอินซูลิน ใช้ฉีดบริเวณต้นขา หน้าท้อง หรือบริเวณด้านนอกของแขนส่วนบน
ทำความรู้จักสาร CGRP สาเหตุของอาการปวดไมเกรน
CGRP (Calcitonin Gene Related Peptide) คือ สารสื่อประสาทหรือนิวโรเปปไทด์ชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในสมองของมนุษย์ มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมความเจ็บปวดและการอักเสบของร่างกาย สามารถพบได้ทั่วร่างกายไม่ใช่แค่ที่สมอง โดย CGRP จะมีความสำคัญเมื่อเกิดอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่ง CGRP จะถูกปล่อยออกมาจากเซลล์ประสาท Trigeminal มาจับกับตัวรับส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งสัญญาณความปวดไปที่ระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย และจากการศึกษาพบว่ายิ่งระบบประสาทส่วนนี้ถูกกระตุ้นมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ร่างกายไวต่อความปวดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น รวมถึงการปล่อย CGRP ที่มีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอาการปวด
เมื่อผู้ป่วยไมเกรน เกิดอาการปวดหัวขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากสาร CGPR ที่อยู่ภายในสมอง เนื่องจากเวลามีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เรามีอาการปวด สาร CGPR นี้ก็จะพุ่งสูงมากขึ้นด้วย เพราะเราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นได้ตลอด ส่งผลให้อาการปวดหัวไมเกรนทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วก็จะทำให้อาการปวดหัวไมเกรนรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้
การลดหรือระงับสาร CGPR ในร่างกาย จะต้องระงับด้วยยาที่อยู่ในกลุ่ม anti-CGRP mAbs ซึ่งสามารถพบได้ในการรักษาด้วย “ปากกาฉีดพุง” โดยเป็นยาที่สร้างจากเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทำงานโดยการไปขัดขวางการทำงานของสารโปรตีนบางตัวในร่างกายที่เป็นสาเหตุของการเกิดไมเกรน จึงนับได้ว่าเป็นยาที่รักษาต้นเหตุของอาการปวดหัวไมเกรนได้
แนวทางการการใช้ยาแก้ปวด
การรักษาไมเกรนด้วยยาแก้ปวด ถือเป็นวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะเห็นผลเร็วและได้ผลดี แต่จะต้องแยกรับประทานตามอาการ ดังนี้
กรณีปวดหัวไม่รุนแรง
หากมีอาการปวดหัวไมเกรนที่ไม่รุนแรงมากนัก สามารถรับประทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลได้เลย เหมาะสำหรับอาการปวดเบื้องต้น ไม่รุนแรง สามารถบรรเทาอาการปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย
กรณีปวดหัวรุนแรง
หากมีอาการปวดหัวไมเกรนที่รุนแรงมาก ปวดนานไม่หาย และมั่นใจว่าตนเองนั้นเป็นไมเกรน แนะนำให้รับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยไมเกรนโดยเฉพาะ มีคุณสมบัติในการลดอาการปวด โดยยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น naproxen, ibuprofen ควรรับประทานหลังอาหารทันที เพราะหากทานก่อนอาหารอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและมีอาการข้างเคียงได้
ข้อสรุป
อาการปวดหัวไมเกรน เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และแต่ละคนก็จะมีระดับการปวดที่แตกต่างกันออกไป แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยาป้องกันไมเกรนอย่างเหมาะสม ซึ่งการเลือกรับประทานยา ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อเลือกยาที่เหมาะสมกับอาการของตนเอง และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
หรือถ้าหากใครที่ไม่สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาได้ หรือกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา สามารถรักษาด้วยวิธีทางเลือกได้ เช่น การฉีดโบท็อกซ์รักษาไมเกรน การใช้ปากกาฉีดพุงหรือฉีดท้ายทอย โดยสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ BTX Migraine Center ศูนย์รักษาไมเกรนและอาการปวดหัวเรื้อรังที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการตรวจไมเกรนโดยเฉพาะ
สามารถแอดไลน์ @ayaclinic หรือโทรเบอร์ 090–970-0447 เพื่อปรึกษา ขอคำแนะนำ หรือจองคิวการรักษาในรูปแบบต่าง ๆ กับทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ BTX Migraine Center ศูนย์รักษาไมเกรนเฉพาะทางที่ปลอดภัยและทันสมัยได้ทันที