การรักษาไมเกรนขณะตั้งครรภ์ วิธีการรักษาและการดูแลตนเอง
ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวที่อาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยอาการไมเกรนจะมีลักษณะเฉพาะ เช่น ปวดศีรษะข้างเดียว ปวดแบบตุบ ๆ และอาจมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือไวต่อแสงและเสียง สำหรับผู้หญิงที่เป็นไมเกรนมาก่อน การตั้งครรภ์อาจทำให้อาการแย่ลง แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาไมเกรนขณะตั้งครรภ์ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกในครรภ์เป็นสำคัญ
สารบัญบทความ
- สาเหตุและการเปลี่ยนแปลงของไมเกรนช่วงตั้งครรภ์
- วิธีการรักษาไมเกรนขณะตั้งครรภ์
- การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนขณะตั้งครรภ์
- การใช้ยาในการรักษาไมเกรนขณะตั้งครรภ์ควรเป็นอย่างไร
- วิธีป้องกันไมเกรนช่วงให้นมบุตร
- การใช้ยาป้องกันไมเกรนในช่วงให้นมบุตร
- ข้อสรุป
สาเหตุและการเปลี่ยนแปลงของไมเกรนช่วงตั้งครรภ์
สาเหตุและการเปลี่ยนแปลงของไมเกรนขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้
สาเหตุของอาการปวดหัวไมเกรนช่วงตั้งครรภ์
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ระดับฮอร์โมนในร่างกายโดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้ โดยอาการมักจะทุเลาลงในช่วงไตรมาสที่สอง เนื่องจากระดับฮอร์โมนมีความเสถียรมากขึ้นในช่วงเวลานั้นและร่างกายก็สามารถปรับตัวได้แล้ว
- ความเครียด
การตั้งครรภ์อาจนำไปสู่ความเครียดทั้งทางอารมณ์และร่างกาย ซึ่งสามารถกระตุ้นไมเกรนได้ นอกจากนี้ การเตรียมตัวสำหรับการมีลูกและการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน ยังสามารถเพิ่มความเครียดให้กับแม่ที่ตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
- การพักผ่อน
คุณแม่ตั้งครรภ์ อาจนอนหลับได้ลำบากขึ้น เช่น รู้สึกอึด ไม่สบายตัว ส่งผลให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ จึงเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
- การขาดสารอาหาร
การขาดสารอาหาร เช่น การอดอาหารหรือการรับประทานอาหารที่มีสารกระตุ้นไมเกรน (เช่น ช็อกโกแลตหรือชีส) อาจส่งผลต่อการเกิดไมเกรนได้ นอกจากนี้ หากงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ยังมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ด้วยเช่นกัน
- การขาดน้ำ
ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะดื่มน้ำน้อยลงเพราะไม่อยากเข้าห้องน้ำบ่อย แต่ถ้าหากไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ ก็สามารถทำให้เกิดการขาดน้ำ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจกระตุ้นไมเกรนขณะตั้งครรภ์ได้
การเปลี่ยนแปลงของไมเกรนในช่วงตั้งครรภ์
- ความถี่ของการเกิดไมเกรน
ผู้หญิงบางคนที่เคยมีอาการไมเกรนมาก่อนอาจรู้สึกปวดไมเกรนบ่อยขึ้นหรือรุนแรงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้าย
- ลักษณะของอาการ
อาการปวดหัวไมเกรนช่วงตั้งครรภ์อาจมีความแตกต่างจากที่เคยมี โดยอาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนมากขึ้น หรืออาจมีอาการตื่นเต้นทางประสาทสัมผัส (เช่น มองเห็นแสงกระพริบ) ที่เด่นชัดขึ้น
- ระยะเวลาของการเกิดอาการ
ระยะเวลาในการปวดศีรษะอาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยอาจใช้เวลานานขึ้นหรือสั้นลงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
- การตอบสนองต่อการรักษา
วิธีการรักษาไมเกรนแบบเดิมอาจมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับการรักษาไมเกรนตอนตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม้ตั้งครรภ์ต้องหาวิธีการรักษาใหม่ ๆ ที่ปลอดภัยสำหรับทั้งแม่และลูกในครรภ์
วิธีการรักษาไมเกรนขณะตั้งครรภ์
หากมีอาการปวดหัวไมเกรนช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะไม่อยากรับประทานยาแก้ปวด เพราะกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ แต่ในปัจจุบันได้มียาปลอดภัยสำหรับรักษาไมเกรนในคนท้อง จึงสามารถแบ่งวิธีการรักษาได้เป็น 2 แบบ คือ การใช้วิธีทางธรรมชาติและการใช้ยาไมเกรนระหว่างตั้งครรภ์
การใช้วิธีทางธรรมชาติ
การรักษาไมเกรนด้วยวิธีทางธรรมชาติเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ เนื่องจากไม่ใช้ยาและไม่มีผลข้างเคียงต่อทารก สามารถช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้ โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงในระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่
- การประคบเย็นบริเวณหน้าผากหรือการประคบร้อนที่คอและไหล่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดอาการปวดหัวจากไมเกรน
- การนวดบริเวณคอ ไหล่ และขมับเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและลดความตึงเครียด การกดจุดเบา ๆ รอบดวงตาหรือจุดที่รู้สึกตึงสามารถช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น
- การฝึกการหายใจ การทำสมาธิ หรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อสามารถช่วยลดความเครียดและป้องกันไมเกรนตอนท้องได้ การทำโยคะหรือการยืดเหยียดเบา ๆ เป็นการออกกำลังกายที่ปลอดภัยระหว่างตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงแสงจ้าหรือเสียงดังโดยการปิดผ้าม่าน สวมแว่นกันแดด หรืออยู่ในห้องที่เงียบสงบ จะช่วยลดการกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดวัน เพราะการขาดน้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน
การใช้ยาอย่างปลอดภัย
ในบางกรณีการรักษาไมเกรนในช่วงที่ตั้งครรภ์อาจจำเป็นต้องใช้ยา แต่การเลือกใช้ยาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งแม่และทารก ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยยาที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยที่สุดคือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาลดปวดที่ปลอดภัยที่สุดในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในกรณีที่อาการปวดไม่รุนแรง การใช้ขนาดมาตรฐาน (500-1000 มิลลิกรัม) จะปลอดภัยและช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้
การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนขณะตั้งครรภ์
การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนขณะตั้งครรภ์ แนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นไมเกรนให้ได้มากที่สุด เช่น อาหารที่อาจกระตุ้นไมเกรน กลิ่นแรง แสงจ้า หรือเสียงดัง ใช้เวลาไปกับการพักผ่อนในบริเวณที่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับใครที่เป็นไมเกรนเรื้อรัง ปวดหัวบ่อย ควรพักผ่อนให้เพียงพอและสม่ำเสมอ
แต่ถ้าหากไมเกรนกำเริบ แนะนำให้ใช้วิธีธรรมชาติในการบรรเทาอาการ เช่น ประคบเย็นบริเวณศีรษะหรือท้ายทอยช่วยลดอาการปวด นอนในห้องมืดและเงียบ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน ทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไมเกรน รวมทั้งควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากมีอาการไมเกรนอย่างรุนแรง ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
การใช้ยาในการรักษาไมเกรนขณะตั้งครรภ์ควรเป็นอย่างไร
หากคนท้องปวดหัวอย่างรุนแรง สามารถใช้ยารักษาได้ โดยจะต้องเป็นยาแก้ปวดที่ปลอดภัยอย่างยาพาราเซตามอลเท่านั้น โดยทานเพียงแค่ 500 มิลลิกรัมต่อครั้งก็เพียงพอต่อการบรรเทาอาการปวด ส่วนกลุ่มยาที่ควรหลีกเลี่ยงคือ NSAIDs (เช่น ibuprofen) โดยเฉพาะในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์
วิธีป้องกันไมเกรนช่วงให้นมบุตร
ในช่วงให้นมบุตร ก็เป็นอีกช่วงที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะสารอาหารที่ทารกจะได้รับก็จะกลั่นมาจากน้ำนมแม่ ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคุณแม่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการรับประทานยาแก้ปวด ควรหลีกเลี่ยงจะดีที่สุด โดยในช่วงให้นมบุตร สามารถป้องกันไมเกรนได้ดังนี้
การพักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันอาการไมเกรนกำเริบ คุณแม่ที่ให้นมบุตรมักจะรู้สึกตัวตื่นกลางคืนบ่อยครั้งเพื่อดูแลลูก ทำให้การนอนหลับอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ควรพยายามนอนหลับในช่วงเวลาที่ลูกหลับให้ได้มากที่สุด
การดื่มน้ำให้มาก
การดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยป้องกันภาวะการขาดน้ำ ซึ่งอาจกระตุ้นไมเกรนได้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเท่าที่ร่างกายต้องการ และพยายามให้มีน้ำอยู่ใกล้มือในระหว่างให้นมบุตร เพื่อไม่ให้ลืมดื่มน้ำ
การรับประทานอาหารให้ครบ
การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนเป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และโปรตีน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ หลีกเลี่ยงการอดอาหารหรือรับประทานอาหารที่มีสารกระตุ้นไมเกรน เช่น ช็อกโกแลตและชีส
การหลีกเลี่ยงความเครียด
ความเครียดและความวิตกกังวล เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน ได้ ดังนั้น ควรหาวิธีผ่อนคลายจิตใจ เช่น การฝึกหายใจ การทำสมาธิ หรือการออกกำลังกายเบา ๆ จะช่วยลดระดับความเครียด นอกจากนี้ ควรหาเวลาในการดูแลตัวเอง เช่น การอาบน้ำอุ่นหรือการอ่านหนังสือ เพื่อให้จิตใจสงบและร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการให้นมบุตร ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไมเกรน ควรเลือกที่นั่งที่สะดวกสบายและมีแสงสว่างที่เพียงพอ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังหรือแสงจ้าเกินไป ซึ่งอาจกระตุ้นอาการไมเกรนได้ นอกจากนี้ การดูแลบ้านให้สะอาดและเป็นระเบียบ ยังช่วยลดความเครียดได้ดีอีกด้วย
การใช้ยาป้องกันไมเกรนในช่วงให้นมบุตร
ยาไมเกรนที่สามารถรับประทานได้ในช่วงให้นมบุตร ได้แก่
- พาราเซตามอล (Paracetamol)
- ไอบูโพรเฟน (Ibuprofon)
- กรดมีเฟนามิก (Mefenamic Acid)
- ไดโคลฟิแนก (Diclofenec)
- ยาแอสไพริน (Aspirin) สามารถใช้ได้ในปริมาณน้อย ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ
ยาไมเกรนที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงให้นมบุตร ได้แก่
- เออร์โกตามีน (Ergotamine)
- อินโดเมธาซีน (Indomethacin)
- เฟนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone)
ข้อสรุป
อาการปวดหัวไมเกรนช่วงตั้งครรภ์ ถือเป็นช่วงที่มีอาจมีอาการปวด ากกว่าปกติ ดังนั้น ควรมีการดูแลตนเองให้ดี พร้อมหาวิธีป้องกันอย่างเหมาะสม เพราะถึงแม้จะมียาปลอดภัยสำหรับรักษาไมเกรนในคนท้อง แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ หากใครที่กำลังมองหาวิธีการรักษาไมเกรนตอนตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและไม่ต้องทานยา สามารถปรึกษาได้ที่ BTX Migraine Center ศูนย์รักษาไมเกรนและอาการปวดหัวเรื้อรังที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการตรวจไมเกรนโดยเฉพาะ
สามารถแอดไลน์ @ayaclinic หรือโทรเบอร์ 090–970-0447 เพื่อปรึกษา ขอคำแนะนำ หรือจองคิวการรักษาในรูปแบบต่าง ๆ กับทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ BTX Migraine Center ศูนย์รักษาไมเกรนเฉพาะทางที่ปลอดภัยและทันสมัยได้ทันที