ปวดหัวไมเกรนเรื้อรังไม่หาย จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า
โรคที่ส่งผลต่อความผิดปกติต่อร่างกาย หรือทำให้ร่างกายแสดงอาการเจ็บป่วย ถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถเจอได้ เช่น โรคเกี่ยวกับอาการปวดหัว ปวดตามร่างกาย ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งก็อาจจะหายไปได้เองและอาจจะกลับมาเป็นอีกได้ แต่ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ถี่มากจนเกินไป ก็สามารถส่งผลไปถึงสุขภาพจิตใจได้ และเมื่อนานไปอาจเกิดโรคทางจิตใจตามมา
โรคไมเกรน ก็เป็นอีกหนึ่งอาการเจ็บป่วยที่หลายคนจะต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้ ซึ่งเป็นอาการปวดหัวที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ในบางรายมีอาการปวดอย่างรุนแรงและเรื้อรัง จนอาจจะทำให้ใช้ชีวิตลำบาก หน้ามืดบ่อย ล้มบ่อย ไม่อยากออกไปข้างนอก สุดท้ายก็จะส่งผลให้เกิดโรคทางจิตใจ หรือโรคซึมเศร้าได้
สารบัญบทความ
- โรคซึมเศร้า คืออะไร
- โรคซึมเศร้า จากไมเกรน
- วิธีป้องกัน ซึมเศร้า จากไมเกรน
- วิธีรักษา ซึมเศร้า จากไมเกรน
- วิธีดูแลตัวเอง หลังพบว่าเป็นโรคซึมเศร้า
- ประโยชน์ของ ยาต้านเศร้า รักษาไมเกรนและโรคซึมเศร้า
- ข้อสรุป
โรคซึมเศร้า คืออะไร
โรคซึมเศร้าเกิดจากอาการผิดปกติทางอารมณ์ ซึ่งเป็นโรคทางจิตใจ หรือภาวะอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยซึมเศร้ามักจะมีอาการเฉยชา ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง แต่มีความรู้สึกต่าง ๆ ก่อขึ้นภายในความคิดและจิตใจมากมาย จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก เช่น การไปทำงาน ออกไปข้างนอก ซึ่งตัวผู้ป่วยซึมเศร้าเองก็จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีตัวตน
โรคซึมเศร้าจากไมเกรน
อาการปวดหัวเรื้อรัง ของผู้ป่วยที่เป็นไมเกรน จะเป็นอาการปวดแบบตุบ ๆ ข้างเดียว ในบางรายก็อาจจะปวดสองข้างได้ อีกทั้งยังเป็นอาการปวดที่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลว่าอาการปวดหัวไมเกรนจะมาอีกครั้งตอนไหน จนเกิดอาการเศร้า กังวล ทำให้กระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในแต่ละวัน บางคนไม่กล้าแม้แต่จะออกไปข้างนอกเพราะกลัวว่าจะเจอกับสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน สุดท้ายแล้วก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่เศร้าหมอง วิตกกังวล เกิดความเครียดสะสม มีอาการซึมเศร้า และเป็นโรคทางจิตใจได้
วิธีป้องกัน ซึมเศร้า จากไมเกรน
อาการปวดหัวไมเกรน หรือปวดหัวเรื้อรัง เป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงแค่บรรเทาอาการโดยใช้ยาหรือการรักษาจากแพทย์ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ รอบตัวเพื่อเป็นการป้องกันอาการกำเริบ หากสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดหัวเรื้อรังบ่อยๆ อาจจะเข้าข่ายโรคไมเกรนได้ เพราะฉะนั้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอาการและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ก่อนที่จะมีโรคทางจิตใจหรือโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา
วิธีรักษา ซึมเศร้า จากไมเกรน
หากใครที่มีอาการปวดหัวไมเกรนแล้วมีอาการซึมเศร้าแทรกซ้อนขึ้นมา จะต้องรักษาจากทางต้นเหตุหรืออาการไมเกรนก่อน จึงจะช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ โดยแบ่งวิธีการรักษาได้ ดังนี้
- ทานยาแก้ปวด
หากมีอาการปวดเบื้องต้นยังไม่แรงมากนัก แนะนำให้รับประทานยาแก้ปวด ประเภท พาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการก่อน แต่ถ้าหากมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาพร่า มือชาเท้าชา อาเจียน จึงสามารถใช้ยารักษาไมเกรนประเภทอื่นๆ ได้
- นอนพักผ่อนและอยู่ในที่สงบ
หากมีอาการปวดหัวแบบกระทันหัน ให้ปลีกตัวออกมาจากสถานที่ที่ผู้คนแออัด แล้วหาที่สงบๆ นอนพัก ควรมีอากาศที่ถ่ายเท ปลอดโปร่ง เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวได้
- การฉีดโบท็อกรักษาไมเกรน
การฉีดโบท็อกรักษาไมเกรน เป็นการฉีดเพื่อเข้ายับยั้งปลายประสาท Acetyl Choline ซึ่งเป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองที่ต่อกับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง
- การใช้ยาต้านเศร้า
กลุ่มยาต้านเศร้า เช่น amitriptyline, nortriptyline ยากลุ่มนี้ มีประสิทธิภาพในการลดความถี่ของการเกิดไมเกรนได้ดีมาก แพทย์มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก ๆ เนื่องจากสรรพคุณที่ช่วยในการนอนหลับ ลดอาการซึมเศร้าจากการปวดหัวไมเกรน และสามารถช่วยลดอาการปวดของโรคออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย
วิธีดูแลตัวเอง หลังพบว่าเป็นโรคซึมเศร้า
- หากิจกรรมหรืองานอดิเรกต่างๆ ที่ชอบทำ เพื่อผ่อนคลายความเครียดและให้จิตใจสงบขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ วันละ 30-45 นาที นอกจากจะเป็นการผ่อนคลายความเครียดแล้ว ยังทำให้สุขภาพแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันที่ดีอีกด้วย
- หาเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจคอยเล่าเรื่องราว ปรึกษาปัญหาต่างๆ พยายามอย่าเก็บความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้คนเดียว เพราะอาจทำให้ภาวะซึมเศร้าแย่ลงได้
- หลีกเลี่ยงหรืองดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอลล์นั้นมีผลให้ผู้มีภาวะซึมเศร้ามีอาการรุนแรงมากขึ้น และยังเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้นอีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญในชีวิต เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีทัศนคติเชิงลบมากกว่าปกติ ที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้
- ควรพบแพทย์เพื่อรักษาอาการและให้แพทย์ดูอาการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแพทย์อาจจะให้ยาต้านเศร้า มารับประทานเพื่อบรรเทาอาการ
ประโยชน์ของ ยาต้านเศร้า รักษาไมเกรนและโรคซึมเศร้า
ยาต้านเศร้าสำหรับผู้ที่ป่วยโรคไมเกรนและมีอาการซึมเศร้าแทรกซ้อน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาต้านเศร้าในกลุ่ม SNRIs (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors) เช่น Duloxetine, Venlafaxine, Desvenlafaxine ที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับของสารเซโรโทนินและสารนอร์อิพิเนฟรินในสมอง เป็นการออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทหลายชนิดร่วมกัน ทำงานโดยปรับปริมาณสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกันซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าให้กลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้ยานี้ในการรักษาผู้ป่วยภาวะปลายประสาทอักเสบ อาการปวดประสาท และใช้รักษาไมเกรนด้วย
ข้อสรุป
หากใครที่สังเกตตนเองว่ามักจะมีอาการปวดหัวข้างเดียวบ่อย ๆ ปวดหัวเรื้อรัง หรือว่าปวดมากจนไม่สามารถทำงานหรือออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ อาการเหล่านี้อาจเข้าข่ายโรคไมเกรนได้ ดังนั้น ให้รีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อันตรายเช่น โรคทางจิตใจ โรคซึมเศร้าตามมา
หากใครที่มีอาการดังกล่าวสามารถเข้ามาปรึกษากับทางศูนย์ของเราได้ หรือต้องการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเอ็กสเรย์สมอง ทางศูนย์ BTX Migraine Center มีบริการค่ะ เชื่อมมาทางศุนย์ของเราได้เลยค่ะ