อาการปวดหัวจากไมเกรน หรือการติดยาแก้ปวด สาเหตุและการรักษา
อาการปวดหัวจากไมเกรน เป็นหนึ่งในอาการปวดหัวที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากไมเกรน มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกับการปวดหัวทั่วไปและมักเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือไวต่อแสงและเสียง นอกจากนี้ การใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการไมเกรนอย่างไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่อาการติดยาแก้ปวดและเกิดภาวะการใช้ยาเกินขนาดได้
บทความนี้จะมาอธิบายถึงความเกี่ยวข้องระหว่างอาการไมเกรนและการติดยาแก้ปวด อาการติดยาแก้ปวด คืออะไร อันตรายหรือไม่ ผลข้างเคียงของยาแก้ปวดมีอะไรบ้าง พร้อมแนะนำวิธีเลิกยาแก้ปวดอย่างปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยไมเกรน
สารบัญบทความ
- อาการปวดหัวจากไมเกรนคืออะไร
- การติดยาแก้ปวดจากการรักษาไมเกรนคืออะไร?
- สาเหตุของการเกิดอาการปวดหัวจากการติดยาแก้ปวด
- การใช้ยาสำหรับไมเกรนควรเป็นแบบไหน?
- วิธีรักษาอาการปวดหัวจากการติดยาแก้ปวด
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรน
- ผลข้างเคียงของยาแก้ปวดที่ใช้รักษาไมเกรน สิ่งที่ควรรู้
- การเลิกยาแก้ปวดอย่างปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยไมเกรน
- ป้องกันการติดยาแก้ปวด การใช้ยาแก้ปวดอย่างปลอดภัย
- การรักษาไมเกรนด้วยยาป้องกัน เมื่อควรใช้และประโยชน์ที่ได้รับ
- ข้อสรุป
อาการปวดหัวจากไมเกรนคืออะไร
ไมเกรนมีลักษณะอาการปวดหัวที่ค่อนข้างเด่นชัด โดยมีลักษณะดังนี้
- ปวดหัวข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
- อาการปวดมีความรุนแรงแบบปานกลางถึงรุนแรง มักจะรู้สึกเหมือนหัวเต้นตุบๆ
- อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือไวต่อแสงและเสียง
- อาการปวดไมเกรนมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้ง ๆ โดยมีช่วงที่ไม่มีอาการและเกิดซ้ำในเวลาต่อมา
สาเหตุของไมเกรนนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์และนักวิจัยเชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น กรรมพันธุ์ สภาพแวดล้อม หรือการทำงานที่ผิดปกติของสมองและเส้นประสาท
การติดยาแก้ปวดจากการรักษาไมเกรนคืออะไร?
การใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวดจากไมเกรนอย่างต่อเนื่องและมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะการติดยาแก้ปวดได้ หรือเรียกว่า “อาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด” (Medication Overuse Headache – MOH) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ที่พยายามรักษาอาการไมเกรนด้วยตนเองโดยการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนเป็นระยะเวลานาน เมื่อร่างกายเริ่มคุ้นเคยกับยา ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดิม ซึ่งทำให้เกิดอาการติดยาแก้ปวดในที่สุด
สาเหตุของการเกิดอาการปวดหัวจากการติดยาแก้ปวด
การใช้ยาแก้ปวดไมเกรนมากเกินไปเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
- การใช้ยาบ่อยเกินไป : ผู้ป่วยมักใช้ยาแก้ปวดทันทีเมื่อรู้สึกว่ามีอาการปวดหัว หรืออาจใช้ยาทุกครั้งที่มีอาการแม้จะเป็นไมเกรนเล็กน้อย
- อาการปวดเรื้อรัง : สาเหตุหลักของการติดยาแก้ปวดคือการต้องใช้ยาบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดหัวไมเกรน เป็นต้น ซึ่งมักต้องใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำเพื่อควบคุมอาการปวด ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้ยาเกินขนาดหรือติดยาแก้ปวดได้
- ใช้ยาเกินขนาดหรือใช้ผิดวิธี : การใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดหรือใช้ผิดวิธี เช่น เพิ่มขนาดยาเอง ใช้ยาบ่อยครั้งกว่าที่แพทย์สั่ง หรือใช้ยาแก้ปวดหลายชนิดร่วมกัน เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดยาแก้ปวดได้
- ปัญหาทางจิตใจ : ผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า มีแนวโน้มใช้ยาแก้ปวดมากกว่าปกติเพื่อบรรเทาอาการทางจิต ซึ่งอาจนำไปสู่อาการติดยาแก้ปวดได้
- สภาพแวดล้อมทางสังคม : เช่น การเห็นคนรอบข้างใช้ยาแก้ปวด การเข้าถึงยาแก้ปวดได้ง่าย อาจส่งผลต่อการใช้ยาและนำไปสู่การติดยาแก้ปวดได้
การใช้ยาสำหรับไมเกรนควรเป็นแบบไหน?
การใช้ยาแก้ปวดไมเกรนอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยบรรเทาอาการโดยไม่ทำให้เกิดภาวะติดยาแก้ปวดหรืออาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด (Medication Overuse Headache – MOH) ดังนั้น การใช้ยาแก้ปวด ควรเป็นไปตามหลักการที่ปลอดภัยและถูกวิธี ดังนี้
- ใช้ยาเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาล่วงหน้าหรือใช้เพื่อการป้องกันไมเกรนหากยังไม่มีอาการเกิดขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ยามากเกินไปและป้องกันการเกิดภาวะติดยาได้
- ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษาไมเกรน โดยแพทย์จะช่วยกำหนดขนาดและความถี่ในการใช้ยาให้เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยามากเกินไป หรือใช้ยาในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็น ยาที่ใช้สำหรับการรักษาไมเกรน สามารถแบ่งเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ
- ยารักษาไมเกรนแบบเฉียบพลัน (Abortive medications) : ยาประเภทนี้ใช้เมื่อเริ่มมีอาการไมเกรน เพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยากลุ่ม NSAIDs (เช่น Ibuprofen) หรือยา Triptans (เช่น Sumatriptan)
- ยาป้องกันไมเกรน (Preventive medications) : แพทย์อาจสั่งยาป้องกันไมเกรนให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไมเกรนบ่อยและรุนแรง ยากลุ่มนี้จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการเกิดไมเกรน เช่น ยากันชัก (Anticonvulsants), ยาลดความดันโลหิต (Beta-blockers), หรือยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants)
3.ไม่ควรใช้ยารักษาไมเกรนเกิน 10 วันต่อเดือน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะการใช้ยาเกินขนาด หากพบว่าต้องใช้ยาบ่อยเกินไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับ เปลี่ยนแผนการรักษา
4.สลับใช้ยาและวิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยา การบรรเทาอาการไมเกรนไม่ได้จำกัดเฉพาะการใช้ยาเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยาที่สามารถช่วยลด ความรุนแรงของอาการได้ เช่น การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น
วิธีรักษาอาการปวดหัวจากการติดยาแก้ปวด
อาการปวดหัวจากอาการติดยาแก้ปวด เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนบ่อยเกินไป ส่งผลให้ร่างกายมีอาการปวดหัวเรื้อรังหรือต้องพึ่งพายาในการบรรเทาอาการ การรักษาอาการนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การหยุดใช้ยาเกินขนาดให้ได้มากที่สุด
หยุดใช้ยาแก้ปวดหรือยารักษาไมเกรนที่ทำให้ติดยา
การหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุของการติดยาแก้ปวดเป็นขั้นตอนแรกในการรักษา โดยวิธีการหยุดใช้อาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น
- การหยุดใช้ยาแบบฉับพลัน ในกรณีของยาที่ไม่ใช่ยาประเภทกลุ่มโอปิออยด์หรือยาที่ต้องลดปริมาณอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยสามารถหยุดใช้ยาทันทีได้ แต่ในช่วงแรกอาจรู้สึกไม่สบายหรือปวดหัวมากขึ้น
- การลดปริมาณยาอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับยาบางประเภท เช่น ยากลุ่มโอปิออยด์ หรือยาที่มีฤทธิ์แรง แพทย์อาจแนะนำให้ลดปริมาณยาที่ใช้ทีละน้อย เพื่อป้องกันอาการถอนยาที่อาจเกิดขึ้น
ใช้ยาทดแทนหรือยาเพื่อบรรเทาอาการถอนยา
ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาทดแทนเพื่อช่วยลดอาการปวดหัวในช่วงที่ผู้ป่วยหยุดใช้ยารักษาไมเกรน ซึ่งยาเหล่านี้มักจะเป็นยากลุ่มที่ไม่ทำให้เกิดการติด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs), ยาต้านการซึมเศร้า (Antidepressants) และยาป้องกันไมเกรน (Preventive medications)
การรักษาด้วยวิธีไม่ใช้ยา
- การทำกายภาพบำบัด (Physical therapy) : ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและคลายเครียดที่สะสม
- การฝังเข็ม (Acupuncture) : เป็นการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณที่สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดหัวและช่วยผ่อนคลายระบบประสาทได้
- การฝึกสมาธิและการผ่อนคลาย (Meditation and Relaxation techniques) : การฝึกสมาธิและการผ่อนคลาย ช่วยลดการเกิดอาการปวดหัว และยังเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต : เช่น การปรับท่านั่งทำงานให้ถูกต้อง การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นไมเกรน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรน
การรักษาไมเกรนด้วยยาแก้ปวดอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้โดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือเกิดอาการติดยาแก้ปวด อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้ยาสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรน เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ดังนี้
- ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ : การใช้ยาแก้ปวดไมเกรน ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบ่อยเกินไป : การใช้ยารักษาไมเกรนบ่อยเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อควบคุมอาการ
- เริ่มใช้ยาเร็วที่สุดเมื่อมีอาการ : การใช้ยารักษาไมเกรนทันทีเมื่อรู้สึกว่าเริ่มมีอาการจะให้ผลดีที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันไม่ให้อาการปวดหัวลุกลามมากขึ้น
- ป้องกันการกระตุ้นไมเกรนด้วยการปรับพฤติกรรม : นอกจากการใช้ยา การปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นไมเกรน เช่น การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น การจัดการความเครียด การนอนหลับให้เพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความถี่ในการเกิดไมเกรนและช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องพึ่งพายามากเกินไป
- เข้าใจผลข้างเคียงของยา : ยาแก้ปวดไมเกรน อาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น คลื่นไส้ ง่วงซึม เวียนศีรษะ หรือปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ควรหยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์ทันที
- ใช้ยาร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ : การรักษาไมเกรนไม่ควรใช้ยาเพียงอย่างเดียว ควรใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม หรือการฝึกสมาธิ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและลดความต้องการใช้ยาลง
ผลข้างเคียงของยาแก้ปวดที่ใช้รักษาไมเกรน สิ่งที่ควรรู้
การใช้ยาแก้ปวดและยารักษาไมเกรนสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย โดยผลข้างเคียงของยาแก้ปวดที่พบบ่อยในยารักษาไมเกรนแบ่งได้ตามกลุ่มยาดังนี้
ยากลุ่ม NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ยากลุ่มนี้มักใช้บรรเทาอาการปวดและการอักเสบ โดยยาที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่ Ibuprofen, Naproxen และ Aspirin
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก
- ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- อาการท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูก
- ปวดหัวหรือเวียนหัว
- เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารหากใช้ในระยะยาว
ยากลุ่ม Triptans ยากลุ่มนี้ใช้บรรเทาอาการไมเกรนโดยเฉพาะ เช่น Sumatriptan, Rizatriptan และ Zolmitriptan โดยช่วยลดการขยายตัวของเส้นเลือดและการอักเสบในสมอง
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- อาการร้อนวูบวาบหรือรู้สึกแสบร้อนที่หน้าและคอ
- ความรู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาการอ่อนเพลีย ง่วงซึม
- อาการเวียนหัว
- ในบางรายอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
ยากลุ่ม Ergotamines เช่น Ergotamine และ Dihydroergotamine ใช้บรรเทาอาการไมเกรนที่รุนแรงหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยทำงานคล้ายกับยากลุ่ม Triptans
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดกล้ามเนื้อหรือรู้สึกอ่อนเพลีย
- การไหลเวียนเลือดลดลง ทำให้รู้สึกเย็นหรือชาที่มือและเท้า
- ความดันโลหิตสูงหรือต่ำเกินไป
- หัวใจเต้นผิดปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้
ยากลุ่ม Beta-blockers ยากลุ่มนี้ เช่น Propranolol และ Metoprolol ใช้สำหรับป้องกันไมเกรนในกรณีที่มีอาการบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้ใช้บรรเทาอาการไมเกรนเฉียบพลัน
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ปัญหาการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับหรือฝันร้าย
- หัวใจเต้นช้าลง
- ความดันโลหิตต่ำ
- หายใจลำบาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหอบหืด
ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) ยาบางชนิด เช่น Amitriptyline ใช้เป็นยาป้องกันไมเกรนในกรณีที่มีอาการบ่อยๆ นอกจากรักษาอาการซึมเศร้า
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- ง่วงนอนหรืออ่อนเพลีย
- ปากแห้ง
- น้ำหนักเพิ่ม
- ท้องผูก
- หัวใจเต้นผิดปกติในบางกรณี
ยากลุ่มยากันชัก (Anticonvulsants) เช่น Topiramate หรือ Valproate ใช้ป้องกันไมเกรนในกรณีที่มีอาการบ่อยครั้ง
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- เวียนหัว ง่วงซึม
- น้ำหนักลดหรือเบื่ออาหาร
- ความจำเสื่อม หรือมีปัญหาด้านการคิดและการตัดสินใจ
- มีอาการรู้สึกแสบร้อนที่มือและเท้า
ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น Codeine และ Morphine ใช้รักษาอาการปวดไมเกรนเฉียบพลันที่รุนแรง แต่อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการติดยาและไม่แนะนำให้ใช้เป็นระยะเวลานาน
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- ง่วงนอนหรืออ่อนเพลีย
- ท้องผูก
- การเสพติดยา
- ปัญหาเรื่องการหายใจ
การเลิกยาแก้ปวดอย่างปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยไมเกรน
การรักษาอาการติดยาแก้ปวดอย่างปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยไมเกรน สามารถทำได้ดังนี้
- ค่อย ๆ ลดยาแก้ปวดไมเกรนลงภายใต้การดูแลของแพทย์
- หากผู้ป่วยที่มีอาการอาการติดยาแก้ปวดอย่างรุนแรง แนะนำให้ใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อควบคุมอาการปวด
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
- ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทางจิตใจเพื่อจัดการกับความเครียดและภาวะซึมเศร้า
- หากอยู่ในภาวะติดยาแก้ปวดแล้ว ควรขอรับการบำบัดจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเลิกอาการนี้อย่างปลอดภัย
ป้องกันการติดยาแก้ปวด การใช้ยาแก้ปวดอย่างปลอดภัย
การติดยาแก้ปวดเป็นปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาเกินขนาดหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ผู้ใช้ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดิม หรือเกิดอาการถอนเมื่อหยุดยา ดังนั้น การป้องกันการติดยาแก้ปวดเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเริ่มสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดโดยไม่เสี่ยงต่อปัญหานี้ โดยวิธีการป้องกันอาการติดยาแก้ปวด การใช้ยาแก้ปวดให้ปลอดภัยสามารถทำได้ดังนี้
- การใช้ยาแก้ปวดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เสมอ เพื่อป้องกันการใช้ยามากเกินไปหรือใช้ยาในปริมาณที่ไม่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดเกินความจำเป็น และหันมาใช้วิธีการบรรเทาอาการปวดด้วยวิธีธรรมชาติหรือการปรับพฤติกรรมก่อนที่จะพึ่งยา เช่น การนวด การประคบร้อนหรือเย็น
- จำกัดปริมาณการใช้ยาในแต่ละเดือน ซึ่งควรจำกัดให้ไม่เกิน 10-15 วันต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของยา
- จัดการกับสิ่งที่กระตุ้นอาการปวด เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน การจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม การนอนหลับเพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาไมเกรนด้วยยาป้องกัน เมื่อควรใช้และประโยชน์ที่ได้รับ
การรักษาไมเกรนด้วยยาป้องกัน เป็นอีกหนึ่งแนวทางการรักษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ โดยเฉพาะการฉีดโบท็อกซ์ (Botox) เป็นวิธีการรักษาไมเกรนเรื้อรังที่ได้รับการยอมรับและใช้แพร่หลาย เพราะโบท็อกซ์ไม่เพียงช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไมเกรนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น และมีอาการปวดที่น้อยลงมากกว่าเดิม
เมื่อควรใช้โบท็อกซ์ในการรักษาไมเกรน
การรักษาไมเกรนด้วยการฉีดโบท็อกซ์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดไมเกรนเรื้อรัง โดยมีลักษณะอาการดังนี้
- มีอาการปวดหัวอย่างน้อย 15 วันต่อเดือน
- การรักษาด้วยยาแก้ปวดหรือยาไมเกรนทั่วไปไม่สามารถควบคุมอาการปวดได้
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด หรือมีความเสี่ยงในการติดยาแก้ปวด
- ผู้ป่วยที่ต้องการทางเลือกในการรักษาไมเกรนแบบไม่ต้องพึ่งพายาในปริมาณมาก
ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้โบท็อกซ์ในการรักษาไมเกรน
โบท็อกซ์เป็นสารที่สกัดจาก Botulinum toxin type A ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด โดยมีประโยชน์ดังนี้
- ลดความถี่ของการเกิดไมเกรน ผู้ป่วยที่ฉีดโบท็อกซ์จะมีอาการปวดหัวน้อยลง
- ลดความรุนแรงของไมเกรน แม้ยังเกิดอาการไมเกรน แต่จะรู้สึกปวดน้อยลง
- ช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวด ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการติดยาแก้ปวด
- การฉีดโบท็อกซ์ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงทุพพลภาพจากไมเกรน
ขั้นตอนการรักษาด้วยโบท็อกซ์
- ก่อนเข้ารับการรักษาไมเกรน แพทย์จะทำการประเมินว่าผู้ป่วยมีอาการปวดไมเกรนตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ รวมถึงพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
- เมื่อพิจารณาได้ว่าควรเข้ารับการรักษาด้วยการฉีดโบท็อกซ์ แพทย์จะทำการฉีดสารเข้าสู่กล้ามเนื้อในบริเวณต่าง ๆ ของศีรษะและคอ รวมถึงบริเวณหน้าผาก ขมับ หลังศีรษะ และต้นคอ แต่ละจุดจะได้รับการฉีดในปริมาณเล็กน้อย และการรักษาใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที
- ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการฉีดโบท็อกซ์อย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือนเพื่อคงผลการรักษา โดยการรักษาด้วยโบท็อกซ์จะเริ่มแสดงผลในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังจากการฉีดครั้งแรก
- หลังจากการฉีดโบท็อกซ์ แพทย์จะติดตามอาการของผู้ป่วยและผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด เช่น อาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อในบริเวณที่ฉีด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะหายไปในไม่กี่วัน
ข้อสรุป
อาการติดยาแก้ปวดจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป ถือเป็นอันตรายที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด เพราะส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้โดยตรง ดังนั้น การรักษาด้วยวิธีการใช้ยาป้องกันและการค่อย ๆ ลดใช้ยา เป็นวิธีที่ปลอดภัยและเห็นผลชัดเจนที่สุด
การป้องกันไมเกรนและการรักษาด้วยโบท็อกซ์ เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยวิธีการรักษาทั่วไป และยังเหมาะสำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะติดยาแก้ปวดอีกด้วย
หากใครที่กำลังมองหาที่รักษา สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ BTX Migraine Center ศูนย์รักษาไมเกรนและอาการปวดหัวเรื้อรังที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการตรวจไมเกรนโดยเฉพาะ สามารถแอดไลน์ @ayaclinic หรือโทรเบอร์ 090–970-0447 เพื่อปรึกษา ขอคำแนะนำ หรือจองคิวการรักษาในรูปแบบต่าง ๆ กับทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ BTX Migraine Center ศูนย์รักษาไมเกรนเฉพาะทางที่ปลอดภัยและทันสมัยได้ทันที